การสุขาภิบาลโคขุน


การสุขาภิบาลโคขุน

          การสุขาภิบาล หมายถึง การจัดการใด ๆ ที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและตัวโค เพื่อทำให้โคอยู่สบาย สุขภาพดี ซึ่งส่งผลให้มีการเจริญเติบโตดีตามไปด้วย ได้แก่ การเลือกแบบ ขนาดและความสะดวกของโรงเรือน อาหารและการให้อาหาร การถ่ายเทอากาศ และพาหะนำโรคต่าง ๆ

          ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับโคขณะขุน 
          1. ท้องเสีย อาจเกิดจากอาหาร เช่น เปลี่ยนอาหารกินกากน้ำตาลมากเกินไป กินเกลือมากเกินไป ได้รับสารพิษ สาเหตุจากพยาธิ จากโรคบิด เป็นต้น
          2. ท้องขึ้น หรือท้องอืด อาจเกิดจากปริมาณแก๊สในกระเพาะมากเกินไปจนระบายออกไม่ทัน เนื่องจากโคกินหญ้าสดที่อวบน้ำมากเกินไป
          3. โรคปอดบวม อาจเกิดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย พยาธิปอด อากาศร้อน หรือหนาวเกินไป หรือสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในทางเดินหายใจ
          4.มีบาดแผล ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ถูกของมีคมบาด ขวิดกันเอง เป็นต้น
          5.เป็นฝี เกิดขึ้นเนื่องจากการอักเสบ แล้วเกิดเป็นหนองขึ้นภายใน
          6.ตาอักเสบ อาจเกิดจากมีวัสดุทิ่มตา ขวิดกันเอง หรือเป็นการอักเสบมีเชื้อ โดยมีแมลงเป็นพาหะ
          7.กีบเป็นแผล อาจเป็นผลมาจากความชื้นแฉะของคอก ซึ่งจะพบปัญหานี้มากในฤดูฝน
          8.เกิดโรคระบาดต่าง ๆ การทำวัคซีนไม่ได้เป็นข้อประกันว่าจะคุ้มโรคได้ 100% โคอาจมีโอกาสติดโรคระบาดได้อีก เมื่อมีอาการของโรคต่าง ๆ จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ

การป้องกันโรค และปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของโค

          1.คัดเลือกเฉพาะโคที่มีคุณภาพ ลักษณะดี และปลอดจากโรคต่าง ๆ ไว้เลี้ยง หรือผสมพันธุ์
          2.ให้อาหารที่ถูกสุขลักษณะ และมีคุณค่าทางโภชนะ
          3.จัดให้มีการทำทะเบียน บันทึกสุขภาพของโคทุกตัว
          4.หมั่นสังเกตสุขภาพของโค เมื่อมีความผิดปกติจะได้ทำการแก้ไขทันที
          5.เมื่อพบว่าโคตัวใดมีอาการผิดปกติ ให้แยกออกจากฝูง เพื่อสังเกตอาการและทำการรักษา
          6.ก่อนซื้อ หรือนำโคตัวใหม่เข้ามาในฝูงต้องแน่ใจว่าปลอดจากโรคต่าง ๆ แล้ว และควรแยกเลี้ยงต่างหากนอกฝูงเดิม ประมาณ 2-4 อาทิตย์ เพื่อป้องกันการติดต่อของโรค ซึ่งอาจติดต่อมาจากโคตัวใหม่
          7.ทำความสะอาดคอกเลี้ยง และบริเวณโดยรอบให้สะอาดอยู่เสมอ
          8.เมื่อโคที่อยู่ในฝูงเดียวกัน หรือบริเวณใกล้เคียงกันเป็นโรค ซึ่งมีอาการเหมือนกัน หรืออาการใกล้เคียงกัน ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน และเป็นกับสัตว์อื่นมาก ๆ ขึ้น ให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า เกิดโรคระบาดขึ้นบริเวณนั้น ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ หรือปศุสัตว์อำเภอโดยด่วนที่สุด สำหรับสัตว์ป่วยให้แยกออกรักษาต่างหาก สัตว์ที่ตาย เมื่อสัตวแพทย์ตรวจแล้ว ควรทำลายโดยการฝังให้ลึก โรยด้วยปูนขาว หรือทำการเผา แล้วทำความสะอาดคอก และเครื่องมือต่าง ๆ ด้วยสารเคมี หรือยาฆ่าเชื้อ