หลักการให้อาหารโคขุน


หลักการให้อาหารโคขุน

          อาหารที่ใช้ขุนโคมีทั้งอาหารหยาบและอาหารข้น อัตราส่วนระหว่างอาหารหยาบต่ออาหารข้นจะเป็นเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับ
          1.ราคาของอาหารทั้งสองเปรียบเทียบกัน
          2.อายุและสภาพของโค
          3.ระยะเวลาของการขุน คือระยะต้นหรือระยะปลาย
          4.จำนวนอาหารข้นที่ให้ ให้กินอย่างเต็มที่หรือกินอย่างจำกัด ถ้าให้กินอาหารข้นจำกัด จำนวนอาหารหยาบที่ใช้เลี้ยงโคต้องเพิ่มสูงขึ้นด้วย
          5.อากาศ ถ้าอากาศร้อนควรให้อาหารข้นในปริมาณสูง
โดยปกติแล้วอัตราส่วนระหว่างอาหารหยาบต่ออาหารข้นสำหรับโคขุนควรเป็นดังนี้ คือ
          -ระยะเริ่มต้นขุน อาหารหยาบ : อาหารข้น = 70 : 30
          -ระยะกลางขุน อาหารหยาบ : อาหารข้น = 30 : 70
          -ระยะปลายของการขุน อาหารหยาบ : อาหารข้น = 15 : 85
ปริมาณอาหารที่ให้โคขุน การให้อาหารที่ถูกต้องทั้งด้านปริมาณและโภชนะที่โคต้องการนั้น ต้องให้ตามความต้องการของโค ซึ่งจะมีการคำนวณและมีการใช้ตาราง ซึ่งจะต้องมีความรู้เรื่องนี้พอสมควร แต่ที่จะกล่าวต่อไปเป็นหลักเกณฑ์โดยปริมาณในการให้อาหารแก่โคขุนที่มีอายุต่าง ๆ กัน คือ
          1.โคมีอายุ 2 ปีขึ้นไป กินอาหารวัตถุแห้ง 2% ของน้ำหนักตัวโค
          2.โคที่มีอายุ 1 - 2 ขึ้นไป กินอาหารวัตถุแห้ง 2.5% ของน้ำหนักตัวโค
          3.โคที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี กินอาหารวัตถุแห้ง 3% ของน้ำหนักตัวโค

การสุขาภิบาลโคขุน

          การสุขาภิบาล หมายถึง การจัดการใด ๆ ที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและตัวโค เพื่อทำให้โคอยู่สบาย สุขภาพดี ซึ่งส่งผลให้มีการเจริญเติบโตดีตามไปด้วย ได้แก่ การเลือกแบบ ขนาดและความสะดวกของโรงเรือน อาหารและการให้อาหาร การถ่ายเทอากาศ และพาหะนำโรคต่าง ๆ

          ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับโคขณะขุน 
          1. ท้องเสีย อาจเกิดจากอาหาร เช่น เปลี่ยนอาหารกินกากน้ำตาลมากเกินไป กินเกลือมากเกินไป ได้รับสารพิษ สาเหตุจากพยาธิ จากโรคบิด เป็นต้น
          2. ท้องขึ้น หรือท้องอืด อาจเกิดจากปริมาณแก๊สในกระเพาะมากเกินไปจนระบายออกไม่ทัน เนื่องจากโคกินหญ้าสดที่อวบน้ำมากเกินไป
          3. โรคปอดบวม อาจเกิดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย พยาธิปอด อากาศร้อน หรือหนาวเกินไป หรือสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในทางเดินหายใจ
          4.มีบาดแผล ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ถูกของมีคมบาด ขวิดกันเอง เป็นต้น
          5.เป็นฝี เกิดขึ้นเนื่องจากการอักเสบ แล้วเกิดเป็นหนองขึ้นภายใน
          6.ตาอักเสบ อาจเกิดจากมีวัสดุทิ่มตา ขวิดกันเอง หรือเป็นการอักเสบมีเชื้อ โดยมีแมลงเป็นพาหะ
          7.กีบเป็นแผล อาจเป็นผลมาจากความชื้นแฉะของคอก ซึ่งจะพบปัญหานี้มากในฤดูฝน
          8.เกิดโรคระบาดต่าง ๆ การทำวัคซีนไม่ได้เป็นข้อประกันว่าจะคุ้มโรคได้ 100% โคอาจมีโอกาสติดโรคระบาดได้อีก เมื่อมีอาการของโรคต่าง ๆ จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ



   


ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่