การสร้างคอกโคขุน


 1 คอกโคขุน

          ลักษณะและขนาดของคอกโคขุน ย่อมแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพสถานที่และขนาดของกิจการแต่ก็พอจะสรุปหลักการได้ดังนี้
          1.สถานที่
          1.1ควรเป็นที่ดอน ระบายน้ำได้ดี หรืออาจจะต้องถมพื้นให้สูงกว่าระดับปกติเพื่อไม่ให้น้ำขังในฤดูฝน
          1.2ควรให้ความยาวของคอกอยู่ทิศทางตะวันออก-ตะวันตก
          1.3วางแผนให้สามารถขยายกิจการได้ในอนาคต

   2.ขนาดของคอก

          2.1 พื้นที่คอกควรมีพื้นที่ประมาณ 8 ตารางเมตร/ตัว ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวควรมีหลังคาอยู่ประมาณ 1 ใน 3 ก็เพียงพอแล้ว ส่วนที่เหลือให้เป็นที่โล่งหรือมีร่มไม้ก็ยิ่งดี
          2.2 ถ้าพื้นที่ต่อตัวน้อยเกินไป จะมีปัญหาเรื่องพื้นคอกแฉะ แม้กระทั่งฤดูแล้งแต่ถ้ามากเกินไป ก็จะต้องเสียพื้นที่มากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการสร้างคอกมากขึ้น
          2.3 ถ้าจะสร้างหลังคาคลุมพื้นที่คอกทั้งหมดก็ได้ มีข้อดีที่ไม่ทำให้พื้นคอกแฉะในฤดูฝน แต่ก็มีข้อเสียหลายประการคือ สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุและโคอาจจะขาดวิตามินดี เพราะไม่มีโอกาสได้รับแสงแดดเลย 

   3. พื้นคอก

          3.1 พื้นคอกโคขุนสามารถเทคอนกรีตทั้งหมดได้ก็เป็นการดี เพราะจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องพื้นคอกเป็นโคลนในฤดูฝนได้ แต่ต้องการประหยัดก็อาจจะเทคอนกรีตเฉพาะพื้นที่คอกส่วนที่อยู่ใต้หลังคาก็ได้ หากพื้นคอกส่วนใต้หลังคาเป็นดินจะมีปัญหาเรื่องพื้นเป็นโคลน ไม่ว่าจะเป็นฤดูแล้งหรือฤดูฝน 
          3.2 พื้นคอนกรีตหนา 7 เซนติเมตร โดยไม่ต้องผูกเหล็กสามารถรับน้ำหนักโคขุนได้ สำหรับฟาร์มขนาดใหญ่ ถ้าต้องการให้รถแทรกเตอร์ (รถไถ) เข้าไปในคอกได้ จำเป็นจะต้องเทคอนกรีตให้หนา 10 เซนติเมตร และผูกเหล็กหรือไม้รวกก็ได้
          3.3 ผิวหน้าของพื้นคอนกรีต ควรทำให้หยาบโดยใช้ไม้กวาดมือเสือครูดให้เป็นรอย
          3.4 พื้นคอกส่วนใหญ่ที่เป็นคอนกรีตใต้หลังคา ควรจะปูด้วยวัสดุที่ซับความชื้นได้ดี ได้แก่ แกลบ ขี้กบ ขี้เลื่อย ฟาง หรือซังข้าวโพด เป็นต้น ข้อดีก็คือทำให้โคไม่ลื่น ไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดคอกทุกวัน อีกทั้งมูลโคพร้อมวัสดุรองพื้นนี้นับว่าเป็นปุ๋ยหมักอย่างดีสำหรับแปลงหญ้า การเปลี่ยนวัสดุรองพื้นคอกควรทำ 1-2 ครั้ง/เดือน ในฤดูฝนและประมาณ 3 เดือนต่อครั้งในฤดูแล้ง แกลบ 1 ลูกบาศก์เมตรสามารถปูพื้นคอกได้ 10-12 ตารางเมตร (หนาประมาณ 7 เซนติเมตร) หรือแกลบ 1 กระสอบป่านใช้ปูพื้นได้ 2 ตารางเมตร พื้นคอกส่วนที่เป็นพื้นดินหรือส่วนที่อยู่นอกหลังคาไม่จำเป็นต้องมีวัสดุรองพื้น
          3.5 ควรทำบ่ากั้นแกลบไม่ให้ไหลจากส่วนใต้หลังคาคอนกรีตไปยังส่วนที่เป็นพื้นดิน
          3.6 การปูวัสดุรองพื้นนี้อาจจะไม่จำเป็นเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ผู้เลี้ยงโคขุนบางรายนิยมการล้างทำความสะอาดพื้นคอกทุกวัน ซึ่งได้ผลดีเช่นเดียวกัน แต่สิ้นเปลืองแรงงานค่อนข้างมาก จากประสบการณ์สรุปว่าในฤดูแล้งควรใช้วิธีปูวัสดุรองพื้น ส่วนในฤดูฝนควรใช้วิธีทำความสะอาดคอกทุกวัน
          3.7 มีผู้ทดลองใช้ซีเมนต์บล๊อคเป็นพื้นคอกโคขุนแทนการเทคอนกรีต ปรากฎว่าไม่สามารถทนน้ำหนักโคได้ แต่ถ้าเป็นซีเมนต์บล๊อคที่สั่งอัดพิเศษโดยใส่ส่วนผสมปูนซีเมนต์ลงไปมากกว่าปกติ จะสามารถใช้ปูเป็นพื้นคอกโคขุนได้

   4. หลังคา

          4.1สามารถทำด้วยวัสดุต่าง ๆ กัน เช่น กระเบื้อง สังกะสี จากหรือแฝก
          4.2ถ้าหลังคามุงด้วยสังกะสีควรใช้ชายล่างหลังคาสูงจากพื้นดินประมาณ 250 เซนติเมตร มิฉะนั้นจะทำให้อากาศภายในคอกในฤดูร้อนร้อนมาก
          4.3ถ้าหลังคามุงจากหรือแฝก ชายล่างของหลังคาควรให้สูงจากพื้นดิน 250 เซนติเมตรเช่นกัน ถ้าต่ำกว่านั้นโคจะกัดกินหลังคาได้

   5. เสาคอก

          5.1 สามารถทำด้วยวัสดุต่าง ๆ กันเช่น ไม้เนื้อแข็ง ไม่ไผ่ ไม้สน เหล็ก แป๊บน้ำ หรือคอนกรีต
          5.2 เสาไม้ เสาเหล็ก และแป๊บน้ำ มักมีปัญหาเรื่องเสาขาดคอดินต้องแกไขโดยการหล่อคอนกรีต หุ้มโคเสาสูงจากพื้นดินประมาณ 30 เซนติเมตร การหุ้มโคนเสามักจะเกิดปัญหาการแตกร้าวของคอนกรีต ซึ่งสามารถแก้ได้โดยใช้ท่อปล่องส้วมหรือท่อแอสล่อนเป็นปลอกหุ้มภายนอกอีกชั้นหนึ่ง
          5.3 เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความคงทนถาวรดีมาก แต่มีปัญหาในการกั้นคอกเพราะไม่สามารถตอกตะปูหรือเจาะรูน๊อตได้
          5.4 เสาไม้สนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว มีอายุใช้งานเพียงประมาณ 1 ปี หรือผ่านเพียง 1 ฤดูฝนเท่านั้น โคนเสาระดับพื้นดินก็จะหักเสาไม้ไผ่ (ไม้ซอ) มีความคงทนกว่าไม้สนเล็กน้อย
          5.5 การใช้เสาคอนกรีตฝังดิน และโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดินเล็กน้อยแต่ต่อด้วยเสาไม้นั้น มักจะเกิดปัญหาโคนเสาบริเวณรอยต่อหักเมื่อถูกแรงกระแทกของโค

   6. รั้วกั้นคอก

          6.1 สามารถทำด้วยวัสดุต่างกัน เช่น ไม้เนื้อแข็ง ไม่ไผ่ ไม้สน แป๊บน้ำ เป็นต้น
          6.2 ไม้สน และไม้ไผ่มีอายุใช้งานได้ประมาณ 1 ปีเศษ หรือผ่าน 1 ฤดูฝนเท่านั้น
          6.3 รั้วกั้นคอกรอบนอกควรกั้นอย่างน้อย 4 แนว แนวบนสุดสูงจากพื้นดินอย่างน้อย 150 เซนติเมตร ส่วนรั้วที่แบ่งคอกย่อยภายใน ควรกั้นอย่างน้อย 3 แนว
          6.4 การกั้นรั้วคอกควรให้ไม้หรือแป๊บน้ำที่ใช้กั้นอยู่ด้านในของเสาเพราะเมื่อถูกแรงกระแทกจากโค เสาจะได้ช่วยรับแรงไว้
          6.5 ตาไม้หรือสิ่งแหลมคมในคอกต้องกำจัดออกให้หมด

   7. รางอาหาร

          7.1ควรสร้างให้ได้ขนาดความสูงประมาณ 60 เซนติเมตร กว้างประมาณ 90 เซนติเมตร
          7.2รางอาหารที่แคบเกินไปจะมีปัญหาเรื่องอาหารตกหล่นมากเพราะขณะที่โคยืนเคี้ยวอาหาร ปากโคจะยื่นเลยรางอาหารออกมา
          7.3การทำรางอาหารเตี้ยมากเกินไป ทำให้โคต้องก้มมากในขณะกินอาหาร แต่ถ้าสูงเกินไปจะมีปัญหาสำหรับโคขนาดเล็ก
          7.4โคขุนระยะแรกต้องการอาหารยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ต่อโคขุน 1 ตัว และประมาณ 65 เซนติเมตรในระยะปลาย 
   8. อ่างน้ำ

          8.1 อ่างน้ำควรวางอยู่ในจุดต่ำสุดของคอก หรืออาจจะวางอยู่นอกคอกแล้วทำช่องให้โคโผล่หัวออกไปดื่มน้ำได้
          8.2 ขนาดของอ่างน้ำควรคำนวณให้สามารถ บรรจุน้ำได้พอเพียงสำหรับโคทุกตัวในคอก โค 1 ตัวดื่มน้ำวันละ 20-30 ลิตร หรือโคขุนที่กินหญ้าสดหรือเปลือกสับปะรดเป็นอาหารหยาบ ต้องการน้ำประมาณวันละ 5 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัว ส่วนโคขุนที่กินฟางหรือหญ้าแห้งเป็นอาหารหยาบต้องการน้ำประมาณวันละ10เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว 

   9. มุ้ง

          ในบริเวณที่มียุงหรือแมลงวันรบกวนมากมุ้งมีความจำเป็นมาก
          
          ข้อดีของมุ้งคือ

          1.ป้องกันการรบกวนและดูดเลือดจากแมลงต่างๆ
          2.ป้องกันแมลงและผีเสื้อตอมตาอันเป็นสาเหตุให้เกิดตาอักเสบและพยาธิในตา
          3.ลดการหกหล่นของอาหาร กล่าวคือ ถ้ามีแมลงมากโคจะแกว่งศีรษะเพื่อไล่แมลงขณะกินอาหารทำให้อาหารหกหล่น
มุ้งที่ใช้เป็นมุ้งไนล่อนสีฟ้าควรเป็นเบอร์ 16 หน้ากว้าง 2.5 เมตร ราคาม้วนละ 350-400 บาท (ยาว 30 เมตร) จะใช้มุ้งตาถี่กว่านี้ (เบอร์ 20) ก็ได้ แต่ราคาแพงขึ้นและทำให้การระบายอากาศในคอกไม่ดีนัก การเย็บมุ้งให้เข้ากับรูปทรงของคอกสามารถเย็บด้วยมือหรือจ้างร้านเย็บผ้าใบก็เป็นการสะดวก ในอัตร
คาแรงคิดเป็นม้วนๆละประมาณ40บาท 


ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่